บริบทและศักยภาพการปฏิบัติงานตามภารกิจ
ความเป็นมา
ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดชัยนาทเดิมเรียกว่าการศึกษาผู้ใหญ่ในทุกรูปแบบในลักษณะกระจาย การศึกษาสู่ชนบท โดยจัดในรูปแบบของโรงเรียนผู้ใหญ่ประจำที่โรงเรียนผู้ใหญ่เคลื่อนที่ ห้องสมุดประชาชน โสตทัศศึกษา และโรงเรียนฝึกฝนอาชีพเคลื่อนที่ จัดการศึกษาด้านสายสามัญ สายอาชีพ ตลอดจนการเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลเป็นลักษณะงานที่จังหวัดดำเนินการเองส่วนหนึ่ง และกรมการศึกษานอกโรงเรียน ดำเนินการเองอีกส่วนหนึ่ง โดยอยู่ในความควบคุมดูแลของจังหวัด ลักษณะงานที่เป็นรูปแบบในการพัฒนาเป็นศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนได้แก่โรงเรียนฝึกฝนอาชีพเคลื่อนที่ 34 แรกเริ่มเป็นสาขาของโรงเรียนฝึกฝนอาชีพเคลื่อนที่ 41 จังหวัดอุทัยธานีต่อมายกฐานะเป็นโรงเรียนเมื่อปี พ.ศ.2516 ทำหน้าที่ในการสอนวิชาชีพมี 8 สาขา สถานที่ทำการครั้งแรกใช้อาคารของโรงเรียนการช่างสตรีชัยนาท ต่อมาย้ายไปอาคารเรียนของโรงเรียนชัยนาทพิทยาคม เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2516 โรงเรียนฝึกฝนอาชีพเคลื่อนที่เดิมสังกัดกองส่งเสริมกรมอาชีวะ กระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาโดยประกาศของคณะปฏิวัติ โดยจอมพลถนอม กิตติขจร ได้โอนมาขึ้นกับกองศึกษาผู้ใหญ่ กรมสามัญศึกษา และได้ประกาศจัดตั้งกองการศึกษาผู้ใหญ่เป็นกรมการศึกษานอกโรงเรียนเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2522 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันลักษณะงานได้โอนงานการศึกษานอกโรงเรียนทั้งหมด มารวมอยู่ในโรงเรียนฝึกฝนอาชีพเคลื่อนที่ 34 ทั้งหมด เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2527
รายนามผู้บริหารโรงเรียนฝึกฝนอาชีพเคลื่อนที่ 34
- นายมงคล ค่อยประเสริฐ พ.ศ. 2515-2516
- นายชาตรี อายุวัฒนะ พ.ศ. 2516-2517
- นายสมใจ ทองเรือง พ.ศ. 2517-2519
- นายวิบูลย์ มานะเกษม พ.ศ. 2520-2527
ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดชัยนาท ประกาศจัดตั้งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2527 โดยประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ ลงนามโดย นายชวน หลีกภัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีนายเจือ อาคาสุวรรณ เป็นหัวหน้าศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดชัยนาท คนแรก ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดชัยนาทเริ่มจากศูนย์ฯ จังหวัด 1 เมื่อพ.ศ. 2528 เลื่อนเป็น ศูนย์ฯ 2 เมื่อปีงบประมาณ 2529 และปัจจุบันเป็นศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดชัยนาท โดยมีนายเจือ อาคาสุวรรณ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ ฯ คนแรก สถานศึกษาของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดชัยนาทเป็นเอกเทศ โดยจัดสร้างจากเงินงบประมาณ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2529 ตั้งอยู่ที่ บ้านเขาท่าพระ หมู่ที่ 4 ตำบล เขาท่าพระ อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท (บริเวณเขาพลองด้านหลังสวนนกจังหวัดชัยนาท) ในพื้นที่ 40 ไร่ 2 งาน ประกอบด้วยอาคารต่าง ๆ ดังนี้ อาคารอำนวยการ 1 หลัง หอประชุม 1 หลัง อาคารฝึกงานวิชาชีพ 2 หลัง อาคารพัสดุ 1 หลัง อาคารโรงรถ 2 หลัง บ้านพักครู 4 หลัง ( 1 หลัง 2 ครอบครัว) บ้านพักคนงาน 4 หลัง ( 1 หลัง 2 ครอบครัว ) ปัจจุบันอาคารฝึกงานวิชาชีพ 2 หลัง เป็นอาคารของศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอเมืองมีอาคารโรงจอดรถ 2 หลัง เป็นของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดชัยนาท 1 หลัง ของศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอเมืองชัยนาท 1 หลัง
ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดชัยนาท เป็นสถานศึกษาในสังกัด สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และเมื่อพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 มีผลบังคับใช้ จึงได้ปรับเปลี่ยนจากสถานศึกษา เป็นหน่วยงานการศึกษา มีชื่อ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดชัยนาท เรียกชื่อย่อว่า สำนักงาน กศน.จังหวัดชัยนาท สังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2551 สำนักงาน กศน.จังหวัดชัยนาท ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 4 ตำบลเขาท่าพระ อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท มีสถานศึกษาระดับอำเภอ ในความรับผิดชอบ จำนวน 8 แห่ง คือ
- ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมืองชัยนาทเรียกชื่อโดยย่อว่า กศน.อำเภอเมืองชัยนาท ตั้งอยู่ อาคารโรงฝึกงาน หมู่ที่ 4 ตำบลเขาท่าพระ อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท
- ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอมโนรมย์ เรียกชื่อโดยย่อว่า กศน.อำเภอมโนรมย์ ตั้งอยู่ หมู่ที่ 4 ถนนลำมาบชุมแสง ตำบลคุ้งสำเภา อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท
- ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอวัดสิงห์ เรียกชื่อโดยย่อว่า กศน.อำเภอวัดสิงห์ ตั้งอยู่ อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท
- ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอสรรคบุรี เรียกชื่อโดยย่อว่า กศน.อำเภอสรรคบุรี ตั้งอยู่ อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท
- ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอสรรพยา เรียกชื่อโดยย่อว่า กศน.อำเภอสรรพยา ตั้งอยู่เลขที่ 295/7 หมู่ที่ 4 ตำบลสรรพยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท
- ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอหันคา เรียกชื่อโดยย่อว่า กศน.อำเภอหันคา ตั้งอยู่ อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท
- ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเนินขาม เรียกชื่อโดยย่อว่า กศน.อำเภอเนินขาม ตั้งอยู่อำเภอเนินขาม จังหวัดชัยนาท
- ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอหนองมะโมง เรียกชื่อโดยย่อว่า กศน.อำเภอหนองมะโมง ตั้งอยู่อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท
ทำเนียบผู้บริหาร สำนักงาน กศน.จังหวัดชัยนาท
ตารางที่ 1 แสดงทำเนียบผู้บริหารศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดชัยนาท
ชื่อ-สกุล | ระยะเวลา | |
นายเจือ | อาคาสุวรรณ | กันยายน 2528 – กันยายน 2531 |
นายมงคล | ค่อยประเสริฐ | ตุลาคม 2531 – กุมภาพันธ์ 2533 |
นายบังอาจ | บำรุงศรี | กุมภาพันธ์ 2533 – ตุลาคม 2534 |
นายน้อย | ทองประเสริฐ | ตุลาคม 2534 – กันยายน 2537 |
นายพิสัณห์ | ปิ่นมาศ | ตุลาคม 2537 – พฤษภาคม 2539 |
นางสาวลัดดาวัลย์ | เลิศเพ็ญเมธา | พฤษภาคม 2539 – พฤศจิกายน 2540 |
นายนิพนธ์ | ประภาวดี | พฤศจิกายน 2540 – พฤศจิกายน 2542 |
นายสุชัย | อัมรางกูร | พฤศจิกายน 2542 – กันยายน 2544 |
นายคมกริบ | ตลับทอง | ตุลาคม 2544 – ธันวาคม 2547 |
นายมนตรี | ลิมาภิรักษ์ | ธันวาคม 2547 – พฤษภาคม 2549 |
นายกฤตชัย | อรุณรัตน์ | พฤศจิกายน 2549 – มีนาคม 2551 |
ตารางที่ 2 แสดงทำเนียบผู้บริหารสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
จังหวัดชัยนาท ตำแหน่ง ผู้อำนวยการ สำนักงาน กศน.จังหวัดชัยนาท
ชื่อ-สกุล | ระยะเวลา | |
นายกฤตชัย | อรุณรัตน์ | มีนาคม 2551 – ตุลาคม 2552 |
นายทวี | สว่างมณี | รักษาการในตำแหน่งตั้งแต่ ตุลาคม 2552 ถึง 16 ธันวาคม 2553 |
นางสุพรพรรณ | นาคปานเอี่ยม | รักษาการในตำแหน่งตั้งแต่ 16 ธันวาคม 2553 ถึง 30 พฤศจิกายน 2554 |
นายสถิตย์ | ทองเหลา | รักษาการในตำแหน่งตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2554 ถึง 30 กันยายน 2555 |
นายอนุชา | พงษ์เกษม | 1 ตุลาคม 2555 – 24 พฤศจิกายน 2557 |
นายเธียร | เธียรถาวร | 16 ตุลาคม 2557 – ปัจจุบัน |
อำนาจหน้าที่ของ สำนักงาน กศน.จังหวัดชัยนาท
สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
พ.ศ. 2551 มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2551 ซึ่งส่งผลให้มีสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดเกิดขึ้น เป็นหน่วยงานในสังกัดเปลี่ยนเป็น สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยและมีสถานภาพเป็นหน่วยงานการศึกษาตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 โดยมีชื่อย่อว่า สำนักงาน กศน.จังหวัด” ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานธุรการของคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด และตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการออกตามความนัยมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 และมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2551 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดอำนาจหน้าที่บริหารจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภายในจังหวัด ดังต่อไปนี้
- จัดทำยุทธศาสตร์แผนพัฒนาและมาตรฐานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยในจังหวัด ให้สอดคล้องกับนโยบาย มาตรฐานการศึกษา แผนการศึกษาชาติ แผนพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยและความต้องการของท้องถิ่นและชุมชน
- ศึกษา วิเคราะห์ วิจัยและรวบรวมข้อมูลสารสนเทศ ด้านการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
- วิเคราะห์ จัดตั้ง จัดสรร เงินงบประมาณให้แก่สถานศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยของสถานศึกษาและภาคีเครือข่าย
- ประสาน ส่งเสริม สนับสนุน การจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยของสถานศึกษาและภาคีเครือข่าย
- จัดระบบประกันคุณภาพการศึกษานอกระบบตามที่กฎหมายกำหนด
- ส่งเสริม สนับสนุนการเทียบโอนผลการเรียน การเทียบโอนความรู้และประสบการณ์และการเทียบระดับการศึกษา
- ส่งเสริมและพัฒนาหลักสูตร สื่อ นวัตกรรม และเทคโนโลยีทางการศึกษาร่วมกับสถานศึกษาและภาคีเครือข่าย
- ระดมทรัพยากรด้านต่าง ๆ รวมทั้งทรัพยากรบุคคล เพื่อการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสนับสนุนการจัดและพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
- ส่งเสริม สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
- พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยและภาคีเครือข่าย
- ส่งเสริม สนับสนุน ติดตามและรายงานผลการดำเนินงานตามโครงการ อันเนื่องมากจากพระราชดำริ งานนโยบายพิเศษของรัฐบาลและงานเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ
- กำกับ ดูแล นิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยของสถานศึกษาและภาคีเครือข่าย
- ปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
ภายใต้อำนาจหน้าที่ดังกล่าว สำนักงาน กศน. จึงได้ออกแบบโครงสร้างรองรับจาก
กลุ่มภารกิจภายใต้คำว่า กลุ่ม จำแนกไปสู่กลุ่มงาน และงานตามลำดับ โดยแต่ละงานจะแสดงภาระงานให้เห็นเป็นแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ตลอดจนผลสำเร็จที่คาดหวังจากการปฏิบัติงานต่างๆ ด้วยและ
จัดโครงสร้างการบริหารภายในหน่วยงานออกเป็น 7 กลุ่มได้แก่
- กลุ่มอำนวยการ
- กลุ่มยุทธศาสตร์และการพัฒนา
- กลุ่มส่งเสริมการศึกษานอกระบบ
- กลุ่มส่งเสริมการศึกษาตามอัธยาศัย
- กลุ่มส่งเสริมภาคีเครือข่ายและกิจการพิเศษ
- กลุ่มงานนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา
- กลุ่มตรวจสอบภายใน
ด้านบุคลากร
สำนักงาน กศน.จังหวัดชัยนาท มีบุคลากรทั้งหมด 158 คน โดยแยกตามตำแหน่งดังนี้
- ข้าราชการครู จำนวน 18 คน
- ข้าราชการพลเรือน จำนวน 4 คน
- ลูกจ้างประจำ จำนวน 13 คน
- นักวิชาการ จำนวน 10 คน
- ครู กศน.ตำบล จำนวน 52 คน
- ครูอาสาฯ จำนวน 13 คน
- ครูศูนย์การเรียนชุมชน จำนวน 22 คน
- ครูผู้สอนคนพิการ จำนวน 16 คน
- อัตราจ้าง(บรรณารักษ์) จำนวน 10 คน